วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556


ผ้าไหมไทยสี่ภาค


          “ผ้าไหมไทย” มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า และเป็นเอกลักษณ์ของไทย ที่มีการถ่ายทอดจากบรรพชนสู่สังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งในอดีตนั้น ผ้าไหมก็เป็นที่รู้จักกันในวงแคบๆ ของชุมชนที่ผลิตกันเอง   
 ใช้กันเองเฉพาะในแต่ละกลุ่ม มิได้ขยายออกสู่สังคมอันกว้างไกล สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีวิสัยทัศน์อันยาวไกล ได้ทรงนำผ้าไหมไทยออกสู่ตลาดโลก จนกระทั่งทุกวันนี้ ใครๆ ก็รู้จักผ้าไหมไทย พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายชุดไหมไทยพระราชนิยม ในคราวตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้ผ้าไหมเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วโลก ถือเป็นการขยายตลาดผ้าไหมไทยสู่สากลครั้งยิ่งใหญ่ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักและเป็นสินค้าที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก การทอผ้าไหมจึงเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชนบท อีกทั้งสืบทอดงานศิลปะและหัตถกรรมอันทรงคุณค่าไว้ชั่วรุ่นลูกรุ่นหลาน
ผ้าพื้นเมืองของไทยได้แบ่งตามภูมิภาคไว้ ดังนี้

ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือ
       ผ้าที่ทอในบริเวณภาคเหนือหรือล้านนา ปัจจุบันคือบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จนถึงดินแดนบางส่วนของประเทศพม่า ประเทศจีน และประเทศลาว
       ดินแดนในบริเวณล้านนาประกอบด้วยเนินเขาและที่ราบ หรือที่เรียกว่า บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ประกอบด้วยยูนนานทางตะวันตกของประเทศจีน รัฐฉานของประเทศพม่า หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ในประเทศลาว และบริเวณภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริเวณดังกล่าวนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของประชากรหลายชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็มีการจัดองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มีความเชื่อทางศาสนา มีวัฒนธรรมและสังคมเป็นของตัวเอง
       กลุ่มคนไทยวนในอดีตมีวัฒนธรรมการใช้ผ้าเป็นของตนเอง ตั้งแต่การทอ การสร้างลวดลาย จนถึงการนุ่งห่ม เช่น ผู้ชายจะนุ่งหยักรั้งจนถึงโคนขาเพื่ออวดลายสักตั้งแต่เหนือเข่าขึ้นไปจนถึงโคนขา ไม่สวมเสื้ออแต่มีผ้าห้อยไหล่ ชนชั้นสูงจะสวมเสื้อ มีผ้าพันเอง ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลาย ไม่สวมเสื้อแต่มีผ้ารัดอก มักเกล้าผมมวยไว้กลางศีรษะแล้วปักปิ่นหรือเสียบดอกไม้ การแต่งกายเช่นนี้ยังปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาฝนังวิหารหลายแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตำบลพระสิงห์ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖ จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขียนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕

         ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ ผ้าของกลุ่มชนทั้งสอง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องบูชาตามความเชื่อที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่น     ผ้านุ่งผู้หญิงของกลุ่มไทยวนและไทลื้อมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกัน แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่

(ซิ่นไทยวน อำเภอแม่แจ่ม)

-หัวซิ่น ส่วนที่อยู่ติดกับเอว มักใช้ผ้าพื้นสีขาว สีแดง หรือสีดำต่อกับตัวซิ่นเพื่อให้ซิ่นยาวพอดีกับความสูงของผู้นุ่ง และช่วยให้ใช้ได้คงทน เพราะเป็นชายพกต้องขมวดเหน็บเอวบ่อยๆ
-ตัวซิ่น ส่วนกลางของซิ่น กว้างตามความกว้างของฟืม ทำให้ลายผ้าขวางลำตัว มักทอเป็นริ้วๆ มีสีต่างๆ กัน เช่น ริ้วเหลืองพื้นดำ หรือทอยกเป็นตาสีเหลี่ยม หรือทอเป็นลายเล็กๆ
-ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด อาจเป็นสีแดง สีดำ หรือทอลายจกเรียก ซิ่นตีนจก ชาวไทยวนนิยมทอตีนจกแคบ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มักทอลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง เชิงล่างสุดเป็นสีแดง ซิ่นตีนจกของคหบดีหรือเจ้านายมักสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองให้สวยงามยิ่งขึ้น
   การนุ่งซิ่นและห่มสไบเป็นการแต่งกายที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวเหนือแทบทุกกลุ่ม แต่รูปแบบของซิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละกลุ่ม เช่น ชาวไทลื้อในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน โดยเฉพาะกลุ่มไทลื้อ จังหวัดน่าน มีแบบแผนการทอผ้าซิ่นและการสร้างลวดลายที่สำคัญ ๓ ประเภท คือ

๑. ลายล้วงหรือเกาะ คือ การสร้างลายด้วยวิธีล้วงด้วยมือ คือใช้เส้นด้ายสีต่างๆ สอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามจังหวะที่กำหนดให้เป็นลายคล้ายการสานขัด จากนั้นจะใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผ้าลายล้วงที่มีชือเสียงคือ ผ้าลายน้ำไหล หรือ ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน ซึ่งเกิดจากการล้วงให้ลายต่อกันเป็นทางยาว เว้นระยะเป็นช่วงๆ คล้ายคลื่น นอกจากผ้าลายล้วงยังมีลายอื่นๆ ที่เรียกชื่อตามลักษณะลาย เช่น ลายใบมีด หรือลายมีดโกน เป็นลายที่เกิดจากการล้วงสอดสีด้ายหลายๆ สีให้ห่างกันเป็นช่วงๆ เหมือนใบมีดบางๆ ลายจรวดมีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายน้ำไหลสายรุ้งเป็นลายที่พัฒนามาจากลายน้ำไหลโดยคั่นด้วยการสอดสี ลายไส้ปลา เป็นลายที่มีหลายสีคล้ายสีรุ้ง แล้วคั่นด้วยการเก็บมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกลายดอกหมาก มุกข้าวลีบ ลายกำปุ้งหรือลายแมงมุม พัฒนาจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันตรงกลาง เติมลายเล็กๆ โดยรอบเป็นขาคล้ายแมงมุม ต่อมาพัฒนาเป็นลายอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ลายดอกไม้ ลายปู ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากกรรมวิธีในการล้วงทั้งสิ้น หากแต่ละลายจะดัดแปลงปสมกับกรรมวิธีอื่นเพื่อให้ได้ลวดลายที่ต่างกันออกไป


(ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน)
  
๒.ลายเก็บมุก คือ การสร้างลวดลายด้วยการทอคล้ายกับการเก็บขิดของอีสาน ไม่ได้ล้วงด้วยมือ แต่จะเก็บลายด้วยไม้ไผ่เหลากลมปลายไม่แหลม เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอดเส้นด้ายด้วยไม้เก็บลายชนิดต่างๆ ตามแม่ลายที่จะเก็บ ลายชนิดนี้เรียกชื่อต่างกันไปตามความนิยมท้องถิ่น

(ซิ่นมุกต่อตีนจก ชาวไทพวน)

  ๓.ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน คือการสร้างลวดลายที่ใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ การคาด(มัด) ก่อนย้อมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลาย คล้ายลายมัดหมี่ ลายคาดก่านมักประดิษฐ์เป็นลวดลายเล็กๆ ไม่พัฒนาลวดลายเหมือนลายน้ำไหล

(ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน)

     กรรมวิธีในการทอผ้าให้เป็นลวดลายประเภทต่างๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้กับผ้าทอที่ต้องการใช้สอยในลักษณะที่ต่างกันไป โดยเฉพาะซิ่นไทลื้อเมืองน่าน หรือ ซิ่นน่าน มีลวดลายและสีเด่น เพราะทอด้วยไหมเป็นริ้วไหญ่ๆ สลับสีประมาณสามหรือสี่สี ส่วนตีนซิ่นมีสีแดงเป็นแถบใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มคั่นด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง หรือไหมคำสลับเพื่อให้เกิดความวาวระยับ บางทีแต่ละช่วงจะคั่นด้วยลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น เรียกต่างออกไปตามลักษณะของลาย เช่น ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็ม ซิ่นล้วง ซิ่นลายน้ำไหล 
     (ซิ่นป้อง)                                                               (ซิ่นล้วง)



















ผ้าพื้นบ้านภาคอีสาน

         ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ ๑๘ จังหวัด ประกอบด้วยกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า ๒๐ ชาติพันธ์ ส่วนมากเป็นกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายไท-ลาว หรือชนเผ่าไท-ลาว ที่คนไทยภาคอื่นมักเรียกว่า ลาว เป็นกลุ่มชาติพันธ์ใหญ่สุดของภาคอีสาน ภาคอีสานมีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด หรือประมาณ ๑๗๐๒๒๖ ตารางกิโลเมตร กลุ่มไท-ลาวเหล่านี้กรระจายอยู๋ทัวไปแทบทุกจังหวัด และสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้ กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดเลย นครราชสีมา และชัยภูมิ มีความใกล้ชิดกับหลวงพระบาง กลุ่มชนในเขตจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มีความใกล้ชิดกับเวียงจันทน์ กลุ่มชนในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ เป็นกลุ่มผู้ไทหรือภูไท กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และมหาสารคาม โน้มเอียงไปทางจำปาสัก กลุ่มชนในบริเวณภาคอีสานมิได้มีเฉพาะคนไท-ลาวเท่านั้น ยังมีกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ อีกเช่น ข่า กระโส้ กะเลิง ส่วย และเขมร โดยเฉพาะเขมรและส่วยซึ่งกระจายกันอยู่ในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์

        การทอผ้าที่สำคัญของชาวอีสาน คือ การทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ในครัวเรือน ผ้าซิ่นของกลุ่มไท-ลาวนิยมใช้ลายขนานกับลำตัวต่างกับซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางลำตัวและนุ่งยาวกรอมเท้า ชาวไท-ลาวอีสานนิยมนุ่งสูงระดับเข่าหรือเหนือเข่า การต่อหัวซิ่นและตีนซิ่น ถ้าเป็นซิ่นไหมจะต่อตีนซิ่นด้วยไหม แต่ถ้าเป็นซ่นฝ้ายก็จะต่อด้วยฝ้าย ตีนซิ่นจะมีขนาดแคบ ๆ ไม่นิยมเชิงใหญ่ หัวซิ่นนิยมต่อด้วยผ้าไหมชิ้นเดียวทอขิดเป็นลายโบกคว่ำและโบกหงาย ใช้สีขาวหรือสีแดงเป็นพื้น ใช้ได้ทั้งกับผ้าซิ่นไหมหรือซิ่นฝ้าย การต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ เวลานุ่งตะเข็บหนึ่งอยู่ข้างหลังสะโพก ต่างกับการนุ่งซุ่นของชาวล้านนาหรือชาวไทยญวนที่นิยมนุ่งผ้าลายขวางที่มีสองตะเข็บ เวลานุ่งจึงมีตะเข็บหนี่งอยู่ข้างหลังสะโพก ไม่เหมือนกับซิ่นของชาวลาวซึ่งซ่อนตะเข็บไว้ด้านหน้าจนไม่เห็นตะเข็บ สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เป็นประเพณีต่อกันมาแต่อดีต

        ผ้าทอพื้นบ้านอีสานที่รู้จักกันดีและทำกันมาแต่โบราณนันมี ๒ ชนิด คือ ผ้าที่ทอจากเส้นใยฝ้ายและไหม แต่ภายหลังมีการนำเส้นใยสังเคาะห์ประเภทด้ายและไหมโทเรมาผสม ซึ่งเป็นการทอลักษณะหัตถอุตสาหกรรมการทอผ้าพื้นบ้านแต่เดิมชาวบ้านจะทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกฝ้ายและปลูกต้นหม่อนเพื่อเอาใบมาเลี้ยงตัวไหม นำรังไหมมาสาวให้เป็นเส้น จนกระทั้งฝอกและย้อมสี 


(ผ้าไหมมัดหมี่)


(ผ้ามัดหมี่บ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ)
                      

    ชาวไทยเชื้อสายเขมรนิยมทอผ้าไหมมัดหมี่เช่นเดียวกัน แต่มีการมัดที่มีลักษณะพิเศษเป็นของตัวเอง และเรียกชื่อต่างไป เช่น ผ้าปูม ผ้าเชียม (ลุยเชียม) ผ้าอัมปรม ผ้าโฮล นิยมใช้กันในหมู่คนสูงอายุในเขตจังหวัดสุรินทร์นั้นมีคุณภาพดี นอกจากผ้ามัดหมี่แล้วยังมี ที่มีสีเลื่อมระยับงดงาม ด้วยการใช้เส้นไหมต่างสีสองเส้นควบกัน
(ผ้าปูม)


(ผ้าโฮลเปราะฮ์)

(ผ้าหางกระรอก)

                 กลุ่มผู้ไทในภาคอีสานมีความสามารถทอจกได้อย่างวิจิตรงดงาม ผ้าจกภูไทที่รู้จักกันดี คือ ผ้าแพรวาหรือผ้าแพวา
(ผ้าแพวา หรือ แพรวา)

ผ้าพื้นบ้านภาคกลาง
          การอพยพกลุ่มไท-ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ต่างๆ ในบริเวณภาคกลาง เป็นเหตุให้กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาวกระจายไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ เป็นจำนาวนมาก ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่วนมากยังคงทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มตามแบบอย่างและขนบนิยมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แหล่งทอผ้าพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญได้แก่ กลุ่มทอผ้าเชื้อสายไทพวน บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ไทพวนบริเวณตำบลหาดเสี้ยวมาจากเมืองพวน ประเทศลาว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางกลุ่มได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในบางท้องที่ของจังหวัดปราจีนบุรี มหาสารคาม สุพรรณบุรี เป็นต้น
          ผ้าหาดเสี้ยวที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งคือ ซิ่นตีนจก เป็นผ้าทอสำหรับนุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น งานเทศกาลประจำปี งานประเพณี ซิ่นตีนจกมักจะทอด้วยฝ้ายหรือฝ้ายสลับไหมเป็นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลายซึ่งทอด้วยวิธีจก จึงเรียก ซิ่นตีนจก นิยมทอด้วยการคว่ำผ้าลง ลายที่ทอมักเป็นลายเรชาคณิตเป็นหลัก และเรียกชื่อลายต่างๆ กัน เช่น ลายสิบหกดอกตัด ลายแปดขอ ลายสี่ดอกตัด ลายเครือใหญ่ ลายดอกเครือน้อย ลายเหล่านี้มักเป็นลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีลายเล็กๆ ย่อซ้อนอยู่ภายใน การสลับลายใช้การเรียงซ้อนกัน คั่นด้วยหน้ากระดานเป็นชั้นๆ สีที่ใช้นิยมวรรณสีร้อน เช่น สีแดงอมส้ม สีน้ำตาลปนเหลือง ลายเล็กๆ จะย่อเป็นชั้นๆ ลดลงไปเรื่อยๆ และมักสอดไส้ด้วยสีอ่อน ส่วนเชิงล่างสุดหรือสะเปามักเป็นพื้นสีแดง ตีนจกบ้านหาดเสี้ยวมีความประณีตสวยงาม และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเป็นของตนเองที่สืบทอดมาแต่โบราณ ลักษณะซิ่นตีนจกชาวไทพวนบ้านหาดเสี้ยวมีรูปแบบคล้ายกับซิ่นตีนจกของกลุ่มชนเชื้อสายไทพวนในท้องถิ่นอื่น เช่น ซิ่นตีนจกกลุ่มไทพวนในบริเวณจังหวัดพิจิตร อุทัยธานี นอกจากซิ่นตีนจกแล้ว ชาวไทพวนยังทอผ้าซิ่นสำหรับนุ่งอยู่บ้านและนุ่งทำงาน ซิ่นชนิดนี้จึงเป็นซิ่นฝ้ายทอด้วยลวดลายธรรมดา เชิงเป็นแถบสีดำหรือสีแดงอมส้ม

  ผ้าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว

        ผ้าพื้นบ้านของกลุ่มไทพวนบ้านหาดเสี้ยวนอกหนือจากทอซิ่นแล้ว ยังทอผ้าชนิดอื่นอีกหลายชนิด เช่น ผ้าห่มนอน มักเป็นผ้าเนื้อหนาลายตารางอย่างผ้าขาวม้า ทอด้วยฝ้ายเป็นผืนสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมอนผา หรือ หมอนขวาน และหมอนสี่เหลี่ยม ซึ่งมีลายขิดที่หน้าหมอนอย่างหมอนขิดของอีสาน ผ้าขาวม้า ผ้าฝ้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายตาสี่เหลี่ยม แต่ถ้าเป็นผ้ากราบจะมีลวดลายพิเศษ เป็นรูปสัตว์ที่เชิงผ้า เช่น รูปช้าง ม้า คนขี่ม้า ผ้าชนิดนี้แต่เดิมใช้ในพิธีแต่งงานแล้วเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันประยุกต์เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าห่มคลุมไหล่ขณะออกนอกบ้านไปวัดหรือไปงานพิธีต่างๆ มักทอด้วยฝ้าย ทอด้วยหูกหน้าแคบ จึงต้องใช้สองผืนต่อกันตรงกลาง ที่เชิงมีลายและปล่อยชายผ้าเป็นเส้นครุยแล้วทำเป็นเกลียว ย่าม ถุงใส่ของที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือที่ทอใช้ประจำบ้านกันทั่วไป นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาวมีลายดำเป็นทางยาว มี ๓ ชนาดคือ ย่ามชนาดใหญ่ ใช้ใส่ผ้าและอุปกรณ์การทอผ้า มักแขวนประจำหูกหรือใส่ด้ายที่ยังไม่ได้ย้อม หรือใส่ผ้าที่ทอแล้วไปขาย อีกชนิดหนึ่งเป็นย่ามขนาดกลาง ใช้สะพายติดตัวเดินทาง และชนิดที่สามเป็นย่ามขนาดเล็ก คนชราใช้ใส่ของกระจุกกระจิกติดตัวไปวัด หรือไปร่วมในงานประเพณีต่างๆ
       ผ้าพื้นบ้านชาวไทพวนที่มีลักษณะพิเศษอีกชนิดหนึ่งคือ ผ้าห่มบ้านไร่ เป็นผ้าฝ้ายทอสลับกับไหมพรม นิยมทอหน้าแคบแล้วเพลาะสองผืนรวมกันเป็นผืนเดียว เชิงผ้าจะทอสีขาวแล้วคั่นลายจกด้วยไหมพรมสีสดๆ เป็นแถบเล็กๆสลับกับพื้นขาว ๒-๓ ช่อง ส่วนกลางผืนมักทอด้วยลายขิดไปจนเต็มผืน บางทีทอเป็นริ้วปิดทั้งซ้ายและขวา ลวดลายของเชิงผ้าอาจจะไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง สุดเชิงมักปล่อยเป็นชายครุยเพื่อความสวยงาม

ผ้าซิ่นตีนจกบ้านไร่

     นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางอีกหลายท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวไทพวนที่ยังคงทอผ้าตามแบบประเพณีนิยมของตน ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าในบริเวณอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิษฐ์ ที่เรียกกันว่า ผ้าลับแล โดยเฉพาะซิ่นตีนจกลับแลมีเอกลัษณ์เฉพาะถิ่นคือ ตัวซิ่นนิยมทอเป็นลายขวางลำตัวหรือทอยกเป็นลายเล็กๆ หรือทอเป็นสีพื้นเรียบๆ เช่น สีเขียวลายริ้วดำ ตีนซิ่นนิยมทอเป็นลายจกกว้างหรือสูงขึ้นมามากกว่าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว และไม่นิยมปล่อยพื้นล่างสุดเป็นสีพื้น มักทอเป็นลายจกลงมาจนสุดเชิงผ้า สีของเชิงที่ลายจกมักเป็นสีใกล้เคียงกันแบบที่เรียกว่า สีเอกรงค์(monochrome) ซิ่นตีนจกลับแลเป็นซิ่นที่มีความประณีตสวยงาม ต่างจากซิ่นไทยวนบ้านเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซิ่นไทยวนตำบลดอนแร่ ตำบลคูบัว อำเภอเมือง บ้างบางกระโด อำเภอโพธาราม จ้งหวัดราชบุรี

ผ้าลับแล

ผ้าพื้นบ้านภาคใต้
       ในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณภาคใต้ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก รวมเรียกว่า “หัวเมืองปักษ์ใต้” เป็นบริเวณที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับหัวเมืองอื่นๆ ซ้ำยังเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ต้องการของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก เช่น ยุคต้นรัตนโกสินทร์ อังกฤษพยายามเข้ามาขอเช่าแกมบังคับเกาะปีนังหรือเกาะหมาก จนเกิดกรณีพิพาทกันขึ้น ทำให้หัวเมืองปักษ์ใต้มีความสำคัญยิ่งขึ้น ในแง่ที่เป็นเมืองหน้าด่านของไทยที่คอยดูแลเมืองอื่นๆ ที่เป็นประเทศราชที่มิใช่ชนเชื้อชาติไทย และรับผลกระทบจากการกระทบกระทั่งกับชาติตะวันตก ที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในบริเวณนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยจากประเทศตะวันตก จึงเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงสองครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๐๒ และพ.ศ. ๒๔๐๖ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองปักษ์ใต้และกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น พร้อมกับทรงจัดระบบการปกครองหัวเมืองเหล่านั้นเสียใหม่ โดยลดอำนาจลง ให้ความรับผิดชอบและอำนาจเด็ดขาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่างๆ ให้ยกเลิกฐานะเจ้าพระยามหานครของปักษ์ใต้แล้วกระจายหัวเมืองมาเป็นมณฑล ได้แก่ มณฑลภูเก็ต มณฑลชุมพร (สุราษฎร์ธานี) มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี มณฑลเหล่านี้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ต่อมามณฑลต่างๆ ถูกลดฐานะเป็นจังหวัดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. ๒๔๗๕
     ลักษณะทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาคใต้ดังกล่าว เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งเกิดจากการติดต่อค้าขายกับชาติที่เจริญแล้ว เช่น จีน อินเดีย และอาหรับ ชาติเหล่านี้ได้นำอารยธรรมของตนเข้ามาพร้อมกับการค้าขาย จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมจีนและอินเดียที่ผสมกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง วัฒนธรรมจีนผสมวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเชื้อสายมาเลย์อย่างที่เรียกว่า วัฒนธรรมบ้าบ๋า เป็นต้น
      การเคลื่อนย้ายผู้คนด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่เฉพาะแต่การเคลื่อนย้ายชาวมุสลิม เชื้อสายมาเลย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้เท่านั้น หากแต่มีการย้ายครอบครัวชาวไทยบางส่วนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนซึ่งแต่เดิมเป็นของไทยด้วย เช่น ชุมชนชาวไทยที่ถูกอพยพเข้าไปอยู่ในกลันตันและไทรบุรี
      ลักษณะเช่นนี้นอกจากทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดการผสมผสานดันด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะกระจายไปสู่ที่อื่นๆ การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาวและลูกหลานของกรมการเมือง ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ กล่าวกันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้ความสนใจการทอผ้ามาก จนถึงขั้นเคยมีเรื่องหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลาในปีพ.ศ. ๒๓๒๐ เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งให้กรมการเมืองออกไปเกณฑ์เอาช่างทอผ้าซึ่งเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองสงขลา และบุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาไม่พอใจ จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับชาวเมืองสงขลาเกินขอบเขต
      เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วสืบต่อมาเรื่อยๆ จากการทอผ้ายกสำหรับใช้ในหมู่เจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นสูงก่อนที่แพร่หลายไปสู่ชาวเมืองและประชาชนทั่วไป
  
ผ้ายกนครศรีธรรมราช

        ผ้ายกนครศรีธรรมราช หรือ ผ้ายกเมืองนครฯ โดยเฉพาะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมากในสมัยโบราณ ผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกประเภทหนึ่งคือ ผ้าทอพุมเรียง ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไชยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร ประชาชนในตำบลพุมเรียงนั้นมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เฉพาะกลุ่มที่ทอผ้านั้นส่วนมากเป็นไทยมุสลิม กล่าวกันว่าถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรีคราวเดียวกับพวกช่างทองและช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช การทอผ้าที่พุมเรียงนั้นแต่เดิมคงจะเป็นการทอผ้าขึ้นใช้ในครัวเรือนและกลุ่มชนของตน
ผ้าบ้านนาหมื่นศรี

ผ้าเกาะยอ

ผ้ายกพุมเรียง
      
         นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง       ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น


เรียบเรียงโดย นางสาวเอกฤทัย ชัยลิ้นฟ้า
                       นางสาวเยาวลักษณ์  ประกอบใส
                       นางสาวเบญจพร อำนวยเจริญชัย
                                          
ที่มา:http://thaiunique.wordpress.com/%e0%b8%9c%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2/%e0%b8%9c%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b9%94-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%84/